ดีเอสไอ ประชุมคดีตึก สตง.ถล่ม ตรวจสอบบ้านพัก หนึ่งในผู้ถือหุ้นคนไทย มีรายได้เดือนละหมื่น พบข้อมูลบริษัทรับงาน 29 โครงการรัฐ มูลค่า 22,000 ล้าน เร่งติดตามตรวจสอบผู้ถือหุ้นอีก 2 ราย
วันนี้ (4 เม.ย.68) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานประชุมคดีนอมินีสร้างตึก สตง.แห่งใหม่ โดยมี พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวน เข้าร่วมประชุม
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า หลังดีเอสไอรับคดีนอมินีสร้างตึก สตง.แห่งใหม่ เป็นคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนจะตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ เบื้องต้นได้ตรวจสอบที่บ้านพักในจังหวัดร้อยเอ็ดของนายประจวบ หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 102,000 หุ้น คิดเป็น 10.2% พบแต่ภรรยาของนายประจวบ สอบถามทราบว่านายประจวบออกจากบ้านไป 2-3 วันก่อนที่ตำรวจจะมา และทราบว่านายประจวบมีรายได้จากการรับจ้างก่อสร้างประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เชื่อว่า สถานภาพนายประจวบไม่สอดคล้องกับการถือหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ โดยยังพบว่านายประจวบยังถือหุ้นนิติบุคคลอีก 10 บริษัท มีแนวโน้มว่าเป็นนอมีนี หรือการถือหุ้นอำพราง ส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยอีก 2 คน อยู่ระหว่างการติดตามตัว
ด้าน น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี เปิดเผยว่า แต่เดิมการก่อตั้งบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอ์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 คนเป็นนิติบุคคล โดยในช่วงแรก นายมนัส ถือหุ้น 306,000 หุ้นในวันแรก และโอนหุ้นให้นายโสภณจนเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น ส่วนนายโสภณมี 406,997 หุ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 3 ซึ่งไม่เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่และรับงานภาครัฐได้อย่างไร โดยเบื้องต้นตรวจพบรับงานทั้งหมด 29 โครงการทั่วประเทศ เป็นเงิน 22,000 ล้านบาท อีกทั้งนานโสภณยังเป็นผู้บริหารกับคนจีนอีก 1 คน ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบเช่นกัน
ขณะที่ ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นบริษัทไทย แต่ไม่มีประสบการณ์และมาร่วมเป็นบริษัทคู่ค้ากับบริษัทไทยเข้าร่วมประมูล จึงต้องตรวจสอบว่ามีคนไทยรู้เห็นหรือไม่ และเอกสารเท็จหรือไม่ รวมถึงการทำกิจการร่วมค้ากับนิติบุคคลของไทย 11 บริษัท รับงานโครงการจากรัฐบาล 29 โครงการ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาทไปทำ มีการอำพรางหรือไม่ โดยจะขอเวลาประมาณ 2 เดือนในการตรวจสอบ
ส่วนที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมกับ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ประมูลงานก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ ในราคา 2,136 ล้านบาท จากราคากลาง 2,500 บาท มองว่าเป็นการฟันราคาเจ้าอื่นหรือไม่ และต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เหตุผลอะไรทำให้รัฐหลงเชื่อและใช้บริการ