สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ส่วนในโลกโซเชียลฯ ต่างพากันแชร์ภาพนาทีประสบเหตุ ทีมข่าวรวบรวมมาให้ดู เริ่มที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ประชาชนในงานพากันอพยพออกมา
นาทีหนีวุ่น เร่งอพยพ
ประชาชนจำนวนมาก กำลังอพยพออกมาจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขณะนั้นทุกคนอยู่ในงานสัปดาห์หนังสือ และเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2568 หลายคนยังงงว่าเกิดอะไรขึ้น
นาทีระทึก คนเช็ดกระจกบนตึกสูง
ส่วนอีกคลิปหวาดเสียวมาก เป็นนาทีชีวิตของคนเช็ดกระจกบนตึกสูง ที่เผชิญแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
นาทีชีวิตที่คนเช็ดกระจกห้อยโตงเตงบนตึกสูงในกรุงเทพฯ โดยมีเชือกรั้งตัวเอาไว้ ขณะที่น้ำในสระว่ายน้ำคอนโดฯ กระเพื่อมแรงจนไหลลงมาเป็นน้ำตก บางช่วงคนเช็ดกระจกต้องใช้มือจับขอบตึกเอาไว้ด้วย
แผ่นดินไหวบนทางด่วน
คลิปนี้ถ่ายจากในรถขณะอยู่บนทางด่วน ที่จะไปจังหวัดชลบุรี จะเห็นว่ารถทุกคันจอดนิ่งอยู่ สังเกตเสาไฟฟ้าส่องสว่างกลางถนน โยกไปมาตามแรงสั่นสะเทือน
พยาบาล-เจ้าหน้าที่ เร่งอพยพผู้ป่วย
คลิปต่อมาเป็นภาพนาทีชีวิต แต่ก็เป็นอีกภาพที่เห็นถึงการร่วมมือของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ที่ปฏิบัติหน้าที่จนถึงที่สุด
บุคลากรทางการแพทย์ช่วยกันอพยพผู้ป่วยออกจากจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ภาพนี้ทำเอาคนที่เห็นแล้วซึ้งใจ เจ้าหน้าที่ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยในยามเกิดวิกฤต
ทำคลอดเด็กขณะแผ่นดินไหว จ.พระนครศรีอยุธยา
คลิปนี้เป็นอีกภาพความประทับใจ เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอยุธยา ทำคลอดให้ด้านนอกตึก หลายคนเข้ามาชื่นชมเจ้าหน้าที่ ขณะที่มีคนเข้ามาตั้งชื่อให้ว่า น้องริกเตอร์ ด้วย
นี่เป็นนาทีชีวิตขณะเกิดแผ่นดินไหว มีคนหมดสติ หัวใจหยุดเต้น หลังจากอพยพเดินลงจากตึก 18 ชั้น ย่านชิดลม
ผู้ป่วยได้รับการ CPR ปั๊มหัวใจบนท้ายรถกระบะ ด้วยความร่วมมือของหมอ พยาบาลคลินิกแถวนั้น และพลเมืองดีหลายคน ก่อนนำส่งโรงพยาบาลตำรวจ
ที่สุดของที่สุด ต้องอาจารย์หมอเต้ย พ.ต.ท.วรัญญู จิรามริทธิ์ แพทย์ศัลยกรรมแห่งโรงพยาบาลตำรวจ ต้องทำการผ่าตัดกลางแจ้งให้แก่ผู้ป่วย ท่ามกลางกำลังใจและกระแสชื่นชมจากชาวโซเชียลเป็นจำนวนมาก
คลิปนี้ "อีซ้อ ขยี้เละ" นำมาโพสต์ เป็นเรื่องราวดี ๆ คนขับรถยนต์ชะลอข้างทาง สอบถามคนที่ยืนรอรถโดยสารว่า มีใครจะติดรถไปด้วยหรือไม่ เขาผ่านบางนา เพราะหลายคนไม่มีรถเดินทางกลับบ้าน รถไฟฟ้าหยุดวิ่ง รถสาธารณะก็รอนาน ในยามวิกฤตน้ำใจคนไทยไม่ทิ้งกัน
ตรวจสอบข่าวลือโซเชียลฯ จริงหรือไม่
ข่าวลือว่า "ตึกใบหยก 2" พบรอยร้าว ตัวอาคารเอียงจากเหตุแผ่นดินไหว ทีมข่าวเราสอบถามทีมประชาสัมพันธ์ ยืนยันหลายรูปในโซเชียลฯ เป็นรูปตัดต่อ ในรูปไม่ใช่รอยร้าวจากโครงสร้างอาคาร แต่เกิดจากการลอกสติกเกอร์โฆษณา
ส่วนรูปตึกใบหยกเอียง พบเป็นการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง ทำให้รูปทรงดูผิดปกติ ซึ่งฝ่ายอาคารได้ตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบร่องรอยความเสียหายเชิงโครงสร้าง หรือแม้แต่กระจกร้าว