“หมอสุรัตน์” แนะ 5 วิธีป้องกันอัมพาต สำหรับผู้ติดเล่นมือถือก่อนนอน ติดต่อกันหลายชั่วโมง เผยงานวิจัยชี้ความเสี่ยงเพียบ
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.68 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” เตือนผู้ใช้มือถือ โดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน หากใช้งานติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง มีวิจัยระบุว่า อาจเสี่ยงเป็นอัมพาตติดเตียง โดยมีรายละเอียดตอนหนึ่งที่หน้าสนใจ ดังนี้
“งานวิจัยต่างๆ ใน 10 ปีนี้ คนเป็นอัมพาตเพิ่มมากขึ้น และ อายุน้อยลง คนเป็นความดันโลหิตสูงก็ อายุน้อยลง คนเป็นโรคหัวใจอายุน้อยลง (นี่งานวิจัย จากไทยเลยนะ) และคนติดมือถือ หนักขึ้น ทุกช่องทาง มันสนุก นั่งไถไป ไถมา แต่ มีข้อมูลน่าตกใจ ไถไปไถมานี่แหละ อัมพาตเจี๊ยะ ปากเบี้ยว อ่อนแรง ขี้เยี่ยวไม่รู้เรื่อง ติดเตียงเฉย ได้นอนเล่นมือถือ อีกยาว มาดูงานวิจัยกัน
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 2 ฉบับล่าสุด พบว่า การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป โดยเฉพาะก่อนนอน ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ หากคุณใช้เวลาหลายชั่วโมงในการดูวิดีโอสั้น ๆ หรือจ้องหน้าจอทั้งวัน อาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนนิสัยนี้!
งานวิจัยที่ 1: เวลาดูหน้าจอก่อนนอน & ความดันโลหิตสูง
การศึกษา แบบภาคตัดขวาง ที่ตีพิมพ์ใน BMC Public Health (2025) วิเคราะห์ข้อมูลจาก 4,318 คน (ม.ค. – ก.ย. 2023) พบว่า
📌 การดูวิดีโอก่อนนอนเพิ่มความเสี่ยงความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ
📌 ยิ่งดูนาน ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น:
• 0–1 ชั่วโมง: เสี่ยงเพิ่ม 2 เท่า
• 2–3 ชั่วโมง: เสี่ยงเพิ่ม 1.5 เท่า
• 3–4 ชั่วโมง: เสี่ยงเพิ่ม 5 เท่า
• 4+ ชั่วโมง: เสี่ยงเพิ่ม 21 เท่า!
📌 นักวิจัยใช้ การวิเคราะห์ทางสถิติขั้นสูง และพัฒนา แบบจำลองพยากรณ์ความเสี่ยงที่แม่นยำสูง (AUC = 0.934)
คำอธิบายว่า การกระตุ้นสมองก่อนนอน มีผลต้อระบบประสาทอัตโนมัติ sympathetic และ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ทั้งยังทำให้มีผลต่อการนอนไม่สนิท หลอดเลือดไม่ได้พัก อัมพาตกิน
มาดู การใช้มือถือระหว่างวันบ้าง
งานวิจัยที่ 2: เวลาหน้าจอรายวัน & ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
การศึกษาที่ใช้ข้อมูลจาก China Health and Nutrition Survey (CHNS) ติดตาม 4,587 คน (2004–2009) พบว่า
📌 65% ของผู้เข้าร่วมใช้เวลาหน้าจอเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
📌 ผู้ชายที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 2.37 เท่า
📌 ความเสี่ยงยังคงสูง แม้ปรับปัจจัยอื่น ๆ แล้ว
📌 การศึกษาติดตามผล (2006–2009) พบว่าทั้งผู้ชาย (เสี่ยงเพิ่ม 1.83 เท่า) และผู้หญิง (เสี่ยงเพิ่ม 1.48 เท่า) มีความเสี่ยงสูงขึ้น
ตระหนกไหมหละ แค่ไถมือถือนานไป อัมพาตกิน อดไปทำงาน นี่สินะ สาเหตุของที่ว่า ทำไม อัตราเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คนวัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคนเพิ่มขึ้น
🚨 ใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ไม่ว่าจะก่อนนอนหรือระหว่างวัน เสี่ยงเพิ่มความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง!
การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ พฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ขยับ ทำดับอนาถและยังมีความเครียดจากข่าวสารพัด ส่วนใหญ่ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ทั้งจี้ ปล้น ฆ่า ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นโรคเหล่านี้
ทำไงดี !!
1 ดูระยะเวลาเล่นมือถือ หน้าจอเลย ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงเล่น ช่วงเข้านอน
2 ออกกำลังกาย จะดูไป วิ่งไป ไม่มีใครว่า หมอ cardio นี่เข้า วิ่งไป ดู netflix ไป เอ้อ ทำได้
3 ดูข่าวดีๆ เรื่องราวผ่อนคลายบ้าง อย่าดูแต่ข่าวฆ่ากัน ตบตี แย่งผัวเมีย ตลอดเวลา เข้าใจว่าเผือก เข้าใจว่าอิน เข้าใจว่ามันส์ แต่ติดเตียงนะ ระวัง
4 วัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ ถ้าสูง พบแพทย์
5 ระหว่างวัน ฝึกยิ้ม ฝึกใจดี และสนทนาพาเพลินกับคน กับมนุษย์บ้าง หมาแมวก็ยังดี เอ๊าะ อย่า ก้มแต่มองหน้าจอ”