เวลา 17.13 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน แสดงถึงความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวทิตาของราษฎรที่ได้รับพระเมตตาบารมีปกเกล้าให้มีความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังจะเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่สำคัญของประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อความเจริญของเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ประกอบด้วย ซุ้มประตู "วชิรสถิต 72 พรรษา" บริเวณสะพานดำรงสถิต เป็นส่วนหัวของมังกรและซุ้มประตู "วชิรธำรง 72 พรรษา" บริเวณห้าแยกหมอมี เป็นส่วนหางของมังกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้ายอยู่หัว ได้พระราชทานเงินทุนประเดิมแก่คณะกรรมการสำหรับจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมพระราชทานชื่อว่าซุ้มประตู "วชิรสถิต 72 พรรษา" มีความหมายว่า ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญยั่งยืน 72 พรรษา และซุ้มประตู "วชิรธำรง 72 พรรษา" มีความหมายว่า ซุ้มประตูนี้เป็นเอกลักษณ์จารึกการเทิดทูนของพสกนิกรในอภิมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มาประดิษฐานเหนือซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 2 ซุ้มประตูด้วย
การออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมที่รังสรรค์โดยการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของอารยธรรมไทย-จีน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ "ฐานเสา" มีสีแดงประดับด้วยลวดลายมังกรสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง ตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์มงคล จำนวน 1 คู่ ตั้งอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่งของถนนเจริญกรุง "หลังคา" สีเหลืองสามชั้น โดยตรงกึ่งกลางของหลังคาชั้นบนสุดประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ด้านข้างซ้ายและขวาประดับด้วยมังกรปูนปั้นระบายสีหันหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ สื่อถึงพสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีนต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ส่วน "ฐานซุ้ม" เป็นฐานปัทม์แบบศิลปะไทยออกแบบโดยกรมศิลปากร มีประติมากรรมมงคลช้าง สิงห์ และกลองแกะสลักจากหินอ่อนหยกขาว "ฮั่นไป๋ยู่" ซึ่งเป็นหินชนิดพิเศษที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณประชาชนจีนประจำประเทศไทยมอบให้เนื่องในโอกาสครบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2568
ในการนี้ ทอดพระเนตรการขับร้องเพลง "สดุดีทศมราชา" จากคณะกรรมการสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และภาคีเครือข่าย พร้อมกับ ทอดพระนตรการแสดงชุด "เบญจกตัญญุตาบารมีแห่งมังกรสยาม" ซึ่งนำโดรนมาใช้ในการประกอบการแสดงด้วย
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินตามเส้นทางถนนเจริญกรุง ผ่านแยกเอส.เอ.บี มีการแสดงโขนชุดยกรบ จากโรงเรียนวัดสิตาราม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ผ่านแยกเสือป่า มีการแสดงทศมราชัน เป็นการแสดงตีกลองจีนจากโรงเรียนสัมพันธวงศ์เขตสัมพันธวงศ์ โดยถนนเจริญกรุงถือเป็นถนนสายมังกร และถนนสายแรกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญทางการค้าและมีความรุ่งเรืองมาแต่อดีตและยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติทั้งชุมชนชาวจีน ชุมชนชาวตะวันตก ชุมชนชาวมุสลิม รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุขโดยตลอดเส้นทางสองฝั่งที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านมีประชาชนพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง รวมถึง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มารอเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาทรับเสด็จอย่างเนืองแน่นเพื่อชื่นชมพระบารมี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินถึง วัดมังกรกมลาวาส พระคณาจารย์จีนธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาส นำบรรพชิตจีน จำนวน 73 รูป สวดถวายพระพร พร้อมกับถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนสร้างขึ้นเมื่อปี 2414 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัด