วิษณุ ชี้ตั้งนายกรัฐมนตรี-ครม. ใหม่ อาจใช้เวลาอีกนาน

View icon 66
วันที่ 31 พ.ค. 2566 | 06.27 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ขณะที่ฝั่ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตั้งคณะทำงานเตรียมทำงานกันคึกคัก ข้ามมาที่ทางฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน จับสัญญาณจาก อาจารย์วิษณุ เครืองาม แล้ว ไม่แน่ว่าการตั้งนายกฯ และรัฐมนตรีใหม่ อาจยังอีกนาน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในท่วงทำนองเหมือนว่ารัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เตรียมพร้อมอยู่ยาว โดยได้ชี้แจงข้อกังวลเกี่ยวกับการเบิกใช้จ่ายงบประมาณ ว่างบประมาณที่ต้องขอคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีแค่งบประมาณกลางเท่านั้น แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการยาวเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามรัฐธรรมนูญบอกว่าสามารถใช้งบปีก่อนได้ ซึ่งไม่ถือเป็นงบกลาง โดยงบประมาณอื่นที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอ กกต. ส่วนงบผูกพันเดิมรัฐบาลของรัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงผูกพันต่อ

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงมติ ครม. ที่เห็นชอบต่ออายุแรงงานต่างด้าว เพราะเกรงว่าการตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่อาจจะใช้เวลาอีกยาว หากไม่ต่อแรงงานก็จะกลับประเทศ ทำให้ขาดแคลนแรงงานจำนวนมากได้

จากทิศทางนี้อาจหมายความว่า อาจารย์วิษณุ มองว่า เดือนตุลาคมไปแล้วสภาก็ยังไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ด่านนี้เป็นเป็นด่านสำคัญที่ คุณพิธา จะต้องรวมเสียงในสภาเกิน 376 เสียง โดยมี สว. เป็นด่านใหญ่ และถึงผ่านด่านนี้ได้ก็ยังมีอีกด่านหนึ่งรออยู่ คือ กรณีหุ้นสื่อไอทีวี

กรณีนี้ อาจารย์วิษณุ ให้ความเห็นว่า สามารถเทียบเคียงกับคดีถือหุ้นสื่ออื่น ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปแล้วหลายคดีที่เป็นคดีเกี่ยวกับการถือหุ้นได้ แต่ตนยังไม่ได้ดูว่าเป็นคดีไหน และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับตรงนั้น ส่วนคำถามที่ว่า สามารถนำมาเทียบกับคดีของ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือหุ้นสื่อเอไอเอส แต่ศาลฎีกา (ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ) วินิจฉัยไม่ตัดสิทธิ์เนื่องจากต้องดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และจำนวนหุ้นที่ไม่สามารถสั่งการสื่อได้ อาจารย์วิษณุ บอกว่า เทียบได้ แต่ประเด็นแตกต่างกัน เพราะกรณีของ นายชาญชัย บริษัทแม่ถือหุ้นของบริษัทลูก แต่ก็ต้องเอามาดูด้วยกันทั้งหมด