เปิดประเด็น : เจาะขบวนการนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน

View icon 232
วันที่ 22 พ.ค. 2566 | 11.22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - กว่า 1 ปีมาแล้ว ที่ปัญหาการนำเข้าเนื้อสุกรแบบผิดกฎหมาย หรือ "หมูเถื่อน" ยังเกลื่อนเมือง เนื้อร้ายทำลายวงจรผู้เลี้ยง ผู้ขาย ลามกระทบถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายด้วย ทีมห้องข่าวภาคเที่ยงไปแกะรอยวงจรหมูเถื่อน ที่แม้จะมีการไล่จับกุมมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ยังสาวไม่ถึงต้นตอ ล่าสุดใกล้ความจริงแล้ว

เปิดประเด็น ปัญหาหมูเถื่อน หมูกล่อง ที่ยังคงคุกคามเกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศมายาวนานกว่า 1 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงที่เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever เรียกย่อ ๆ ว่า โรค ASF ระบาด ซึ่งเป็นไวรัสติดต่อร้ายแรงในหมู ช่วงนั้นแพร่กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ไปทั่วโลก ทำลายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงเป็นอย่างมาก และยังทำให้เนื้อหมูราคาพุ่งทะยานแบบก้าวกระโดด จากราคาหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 65-70 บาท เพียงเดือนเดียวราคาพุ่งแตะกิโลกรัมละ 110-120 บาท ส่วนราคาขายปลีกไม่ต้องพูดถึง ต้นปีที่แล้วราคาทะยานทะลุเกิน 200 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นปมเหตุจูงใจ ให้เกิดการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ตามแนวตะเข็บชายแดน กระทั่งลักลอบนำเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทางจากประเทศโซนยุโรป มากที่สุดคือ บราซิล เม็กซิโก ไม่มีใครการันตีได้ว่า หมูที่ถูกส่งตรงมาจากต่างประเทศ ปลอดภัยจากโรค ASF และสารเร่งเนื้อแดงหรือไม่

ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ไล่ล่าจับกุมเนื้อหมูเถื่อนในประเทศ ตามห้องเย็นต่าง ๆ คำถามก็ถาถม หมูเถื่อนมากมายมหาศาลมาจากไหน ทำไมถึงเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่มาได้

คำตอบที่ทีมข่าว 7 HD เสาะหามาได้ ทราบว่าสินค้าจากต่างประเทศ หากส่งมาในลักษณะสินค้าตู้แช่แข็ง จะถูกจัดกลุ่มเป็นสินค้าขาเข้าที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ หรือ Green Line สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์จะสั่งการตรวจ หลังจากนั้นผู้นำเข้า หรือตัวแทน สามารถนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระค่าภาษีอากร และรับการตรวจปล่อยสินค้าได้เลย ผู้ลักลอบอาศัยช่องทางนี้ ชี้แจงรายการสินค้าแช่แข็งเป็นอย่างอื่น เช่น ปลาแซลมอน ถูกนำมาอ้างมากที่สุด นอกจากนั้นก็เป็นเนื้อปลาชนิดอื่น หลากหลายชนิดสินค้า แต่ไม่ใช่เนื้อหมู 

ทีมข่าวของเรา กระจายกำลังเสาะหาข้อมูลเพิ่ม หลังพบข้อมูลการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ติดโรค และมีการสำแดงเอกสารเท็จผ่านศุลกากรด้วยการแก้ไข ปลอมแปลงเอกสารการนำเข้า เพื่อหลบหนีภาษี กุญแจดอกสำคัญที่เปิดทางให้หมูเถื่อนทะลักเข้าไทย คือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต่ำกว่า 50 คน มีส่วนรู้เห็น ร่วมมือกับขบวนการนี้ สร้างความเสียงหายไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เกษตรกรผู้เลี้ยงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ดีเอสไอรับเรื่องสอบสวน เพื่อพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ทีมข่าวไม่รอช้า ได้ลงไปพูดคุยเจาะลึกถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ และพบว่าหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการนี้ คือ ใบนำเข้าของบริษัทชิปปิงขนส่ง ที่ระบุว่าตู้คอนเทนเนอร์ถูกส่งมาจากท่าเรือรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปลายทาง ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ระบุว่าสินค้าในตู้เป็นสินค้าแช่แข็ง ในตู้แช่ควบคุมอุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส น้ำหนักรวม 26,619.140 กิโลกรัม อยากให้คุณผู้ชมดูตัวเลขเหล่านี้ สินค้าในตู้ และประเทศต้นทางให้ดี

ที่ท้ายเอกสารจะเห็นว่า มีตราประทับของกรมศุลกากร ระบุให้ยกเว้นการเปิดตู้เพื่อตรวจสินค้า และมีการเซ็นกำกับโดยเจ้าพนักงานศุลกากรคนหนึ่ง พร้อมกับระบุว่า ตรวจสอบแล้ว ทั้งยังมีการเซ็นกำกับจากเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ควรจะต้องมีการสุ่มเปิดตู้เพื่อตรวจสอบสินค้าว่าคืออะไร และเก็บตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อ

แต่เมื่อไปถึงขั้นตอนการเสียภาษี กลับปรากฏว่ามีข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปหลายอย่าง หลักฐานสำคัญที่นายอัจฉริยะ มีคือ "ใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม" หากดูลงลึกไปในเอกสารจะเห็นว่า ประเทศต้นทางของตู้ ที่ถูกส่งมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ถูกสำแดงเท็จว่ามาจากฮ่องกงแทน ไม่แค่นั้น เมื่อดูที่ชนิดสินค้าที่นำเข้า จากสินค้าแช่แข็ง กลับกลายไปเป็นแผ่นโพลิเมอร์ของโพรพิลีน ใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็น และเพื่อยืนยันตู้ในเอกสารฉบับแรก กับฉบับนี้ คือตู้เดียวกัน ไปดูน้ำหนักของตู้ในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ก็ตรงกันแม้กระทั่งจุดทศนิยม จึงเกิดเป็นคำถามตัวโต ๆ ว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ถึงไม่รู้

หากอ้างว่าเป็นการสุ่มตรวจ บางตู้อาจหลุดรอดสายตาไปได้ แต่จากข้อมูลเอกสารที่นายอัจฉริยะมี พบว่ามีเอกสารหลักฐานการสำแดงเท็จสินค้าในตู้ล็อตนี้ในมืออย่างน้อย 3 ตู้ จาก 10 กว่าตู้ ซึ่งมีการสำแดงเท็จแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ตามกฎหมายแล้ว หากนำเข้าเนื้อสัตว์จะต้องเสียภาษีกิโลกรัมละ 7 บาท หรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 25 ตัน ต้องเสียภาษี 175,000 กว่าบาท และต้องขอใบอนุญาตนำเข้าและตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์ 50,000 บาท หากใช้การสำแดงเท็จ ขบวนการนี้จะเสียภาษีเพียง 3,000 บาท เฉพาะช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา พบความเสียหายที่ทำให้รัฐเสียรายได้แล้วกว่า 3 พันล้านบาท ไม่แค่นั้นหากเนื้อหมูเหล่านี้หลุดรอดออกไป อาจทำให้เชื้อโรคร้ายที่มากับเนื้อ ติดต่อถึงหมูเลี้ยงในไทย หรืออาจส่งผลถึงผู้บริโภคที่ต้องกินเนื้อหมูอันตรายแบบนี้

พรุ่งนี้มาตามเรื่องนี้กันต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบขันนอตเจ้าหน้าที่กันอย่างไร ต้นทางของเนื้อหมูเถื่อนพวกนี้มาจากที่ไหน เข้ามาในไทยได้อย่างไร และที่สำคัญคือ ปลายทางมันจะไปที่ไหน บอกเลยว่าใครที่เป็นนักกิน ถ้ารู้ความจริงอาจต้องร้องอี๋กันเลยทีเดียว