ผู้ผลิตอาหารสัตว์เดินหน้าร้องขอปรับราคา

View icon 268
วันที่ 7 ม.ค. 2566 | 04.02 น.
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย จะไม่ทน เตรียมส่งหนังสือทวงถามกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง เพื่อขอปรับราคาอาหารสัตว์ เรียกได้ว่ายื่นแบบมาราธอนมาก ปีที่แล้วก็ยื่นตลอด แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ ปีนี้เดินหน้ายื่นขออนุญาตอีก

ผู้ผลิตอาหารสัตว์เดินหน้าร้องขอปรับราคา
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า เตรียมทำหนังสือถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อย้ำให้พิจารณาเห็นชอบการปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ โดยสมาคมได้พยายามนำเสนอปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ขยับราคา รอบนี้จะยื่นหนังสืออีก เนื่องจากคาดว่า ราคาวัตถุดิบจะสูงต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เห็นว่า การพิจารณาดำเนินการของรัฐโดยใช้ข้อสมมุติฐานที่สวนทางกับข้อเท็จจริง แสดงให้เห็นถึงความเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์ จึงจะทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในอีกครั้ง เพื่อให้พิจารณาเรื่องการปรับราคาอาหารสัตว์อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ สมาคมฯได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ด้วยแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ สมาคมจึงอยู่เฉยไม่ได้ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ซึ่งเป็นสมาชิกร้องเรียนว่า ได้ยื่นเสนอโครงสร้างต้นทุนราคาวัตถุดิบเพื่อขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นไปยัง ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือขอปรับขึ้นต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด โดยการขอปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ (Price list) ครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปถึงปี 2555 ซึ่งตอนนั้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสัดส่วนกว่า 70% ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาต่ำกว่าปัจจุบันนี้อย่างมาก

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือ การอนุมัติปรับราคาจำหน่ายอาหารสัตว์ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตอาจต้องกำลังการผลิต หรือ ปิดสายการผลิตบางส่วน

แจงต้นทุนไข่ไก่พุ่งไม่หยุด 
กรณี เกษตกรปรับราคาไข่ไก่อีกฟองละ 20 สตางค์ ด้านคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด สรุปผลการประเมินต้นทุนราคาไข่ไก่ในครึ่งปีหลังของ ปี2565 เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกถึง 7.94% โดยต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ บางช่วงเท่ากับ หรือ มากกว่าราคาจำหน่ายไข่คละหน้าฟาร์ม เช่น ต้นทุนค่าอาหาร ค่าวัคซีน ต้นทุนค่าไฟฟ้า และค่าขนส่ง ส่งผลให้ลูกไก่ไข่ราคาขยับมาอยู่ที่ตัวละ 28 บาท ส่วนไก่รุ่นตัวละ 170 บาท บางช่วงต้นทุนสูงกว่า ราคาจำหน่ายไข่คละหน้าฟาร์ม ในเดือนธันวาคม 2565 โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้ต้องขยับราคาขายปลีกไข่คละหน้าฟาร์มล่าสุดเป็น เป็นฟองละ 3 บาท 60 สตางค์เท่ากับต้นทุนผลิต โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประเมินว่า ราคาจำหน่ายเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะเท่ากับปี 2565 คือ ฟองละ 3 บาท 30 สตางค์

ผลักดันผลิตภัณฑ์ SMEs จากกลุ่มชาวบ้าน อวดโฉมตลาดโลก
มาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจกันบ้าง หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ภาครัฐประกาศไว้คือ เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นช่วยเหลือชาวบ้าน เพื่อกระจายรายได้ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทางภาครัฐหวังว่าจะช่วย กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กลับมาฟื้นตัวได้ โดยกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และ น่าน ได้นำภาคธุรกิจ SMEs ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวบ้าน ที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์จากผ้า และผ้าทอ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด ชา กาแฟ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก งานประดิษฐ์ที่ประณีต ของตกแต่ง และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายเชื่อมโยงตลาดในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ในประเทศและต่างประเทศได้ มาอวดโฉมในงาน "LANNA-GMS EXPO 2022" ให้ทุกคนได้เลือกซื้อ เลือกชมกว่า 230 ร้าน งานจะจัดไปจนถึงวันที่ 10 มกราคมนี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง