เศรษฐกิจปีหน้า - การส่งออกชะลอตัวท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้น

เศรษฐกิจปีหน้า - การส่งออกชะลอตัวท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้น

View icon 195
วันที่ 27 ธ.ค. 2565 | 17.55 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ขอสรุปตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้า ที่ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจของธนาคารและองค์กรต่างๆ ออกมาประกาศตัวเลขคาดการณ์ล่าสุด

ศูนย์วิจัยต่างๆ คาดว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 จะยังคงมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3-3.7% โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่

1. การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีมากขึ้น แม้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้าจะยังไม่เท่ากับก่อนมีการระบาดโควิด-19 แต่ก็น่าจะประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวก่อนการระบาด ส่งผลให้การส่งออกบริการของไทยมีมูลค่าสูงขึ้น
2. การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ ตามสถานการณ์ที่ดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว
3. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งสองข้างต้น

ปัจจัยลบ ได้แก่

1. การชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีนและยุโรป ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีหน้าคาดว่าจะชะลอตัว (เมื่อเทียบกับตัวเลขการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7.25%) 

- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกสินค้าในปี 2566 จะหดตัว 1.5%
- แบงก์ชาติ คาดว่าการส่งออกสินค้าในปีหน้าอาจมีการขยายตัวเพียง 1%
- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าการส่งออกสินค้าในปีหน้า จะขยายตัวเพียง 1-2%
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคาร TTB ประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีหน้า จะขยายตัว 2.8%

2. การกลับมาเปิดประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดในการเดินทาง และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นของไทย จะทำให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าบริการสูงขึ้น

3. ภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ตามค่าไฟและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะดันราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น ทำให้ภาวะเงินเฟ้อจะยังคงอยู่แม้จะไม่เร่งตัวเท่ากับปี 2565

4. ค่าธรรมเนียม FIDF กลับมาสู่ระดับปกติ 0.46% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 (หลังมีการปรับลด 0.23% ในช่วงปี 2563-2565 เพื่อลดผลกระทบของการระบาดโควิด-19) จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปีหน้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

5. การชะลอตัวของการส่งออกสินค้า และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขาขึ้น อาจทำให้การลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐชะลอลงในปี 2566

ดุลบริการมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการส่งออกบริการในรูปของการท่องเที่ยวส่งผลบวกต่อดุลบริการได้มากกว่าการนำเข้าบริการ  แต่การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่การส่งออกชะลอลงอาจนำไปสู่ดุลการค้าที่แย่ลงเล็กน้อย ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าเงินบาทในปีหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง