TCEB ตั้งเป้าอุตสาหกรรมไมซ์ 9.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2566

TCEB ตั้งเป้าอุตสาหกรรมไมซ์ 9.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2566

View icon 243
วันที่ 6 ธ.ค. 2565 | 17.04 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ในปี 2566 TCEB ตั้งเป้าอุตสาหกรรมไมซ์สร้างรายได้ 9.6 หมื่นล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เผยผลการดำเนินงานในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ถึงมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไมซ์สามารถสร้างรายได้เท่ากับจำนวน 1.63 หมื่นล้านบาท และ TCEB คาดว่าภายในปีงบประมาณ 2565 จะมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 6.13 ล้านคน คิดเป็นรายได้ประมาณ 2.84 หมื่นล้านบาท สำหรับในปี 2566 TCEB ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมไมซ์สร้างรายได้ 9.6 หมื่นล้านบาท สัญญาณการฟื้นตัวอุตสาหกรรมไมซ์เริ่มกลับมาในปี 2565 ซึ่งคาดว่ารายได้กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 15 สำหรับปี 2566 และ 2567 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 50 และ ร้อยละ 70 ตามลำดับ และปี 2568 จะกลับสู่เกือบภาวะปกติร้อยละ 80 ของรายได้รวมไมซ์ในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา TCEB เน้นสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากผู้ประกอบการทั่วโลกในการเข้ามาจัดการประชุมหรือจัดนิทรรศการในประเทศไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้รู้จักในเวทีโลกผ่านการสื่อสารทั้งในและต่างประเทศ และเดินหน้าประมูลงานระดับโลกให้เข้ามาจัดงานในไทย ไม่ว่าจะเป็น “งานอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต” ซึ่งเป็นงานที่ผลักดันโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือจนเกิดผลสำเร็จ

ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy ซึ่งมีผู้เข้าชมงานมากกว่า  60,000 คน และมีผู้เข้าถึงงานบนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า  1.4 ล้านคน งานระดับโลกที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ “งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ.2569” และ งาน “Thailand International Air Show” ซึ่งมีกำหนดจัดงานประกาศตัวในปี 2566 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2568 และการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นในปี 2570 และงานที่ TCEB ได้ยื่นประมูลสิทธิ์ล่าสุดคือ “Specialised Expo 2028, Phuket Thailand” ที่มีกำหนดจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2571 เป็นงานมหกรรมการแสดงนวัตกรรมและการพัฒนาระดับโลก

อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) หมายถึงการจัดประชุมแบบองค์กรหรือศึกษาดูงานทั้งระดับกลุ่มบุคคลมาจากองค์กรเดียวกันหรือต่างองค์กร ลักษณะการประชุมเฉพาะกิจหรือมีการวางแผนล่วงหน้า (Meetings) การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานหรือบุคคลที่ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร (Incentives) การประชุมแบบสมาคมหรือองค์กรวิชาชีพ (Conventions) และการจัดงานแสดงสินค้าและการจัดงานเมกะอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ (Exhibitions)  โดยเป็นการแสดงสินค้าระหว่างกลุ่มธุรกิจหรือเปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยชูจุดเด่นในแต่ละภูมิภาค สร้างความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องการจัดงานมาตรฐานระดับสากลและการพัฒนาแบบยั่งยืน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจากนานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

ปี 2566 เน้นการจัดการแสดงสินค้า 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ 1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงกลุ่มดิจิทัลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 4) กลุ่มพลังงานทางเลือก รถยนต์ โลจิสติกส์ และคลังสินค้า และ 5) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่าสูง กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้นถือเป็นฐานผู้ประกอบการ SMEs ของประเทศไทยที่ต้องสนับสนุนให้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุดและตอบโจทย์ห่วงโซ่การผลิตในอนาคต

“เรียนรู้จากวิกฤตโควิด-19” การปรับตัวในการจัดงานไมซ์ผ่านเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลก ถือเป็นการผสานรูปแบบการจัดงานแบบไฮบริดระหว่าง Onsite และ Online แบบ Virtual Event Platform เข้าด้วยกัน และบางประเทศใช้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ขับเคลื่อนด้วย AI (Ai-powered Online Platform) วิกฤตโรคระบาดเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยในการสร้างการมีส่วนร่วมและเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ของผู้เข้าร่วมงาน

อุตสาหกรรมไมซ์เป็นอีกความหวังที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศหลังวิกฤตโควิด-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง