ส่งเสริมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดันไทยให้เป็นศูนย์กลางรับมือภัยพิบัติของอาเซียน

View icon 324
วันที่ 27 ต.ค. 2565
แชร์

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ นับเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนและทุกมิติ จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเตรียมความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยในการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการจัดการประชุมคณะทำงานด้านการเตรียมความพร้อมต่อเหตุฉุกเฉิน ครั้งที่ 18 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 15 โดยไทยได้มุ่งผลักดันและเน้นย้ำประเด็น “การส่งเสริมการลดความเสี่ยงและการส่งเสริมความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟูภายหลังโควิด-19” รวมถึงผลักดันความร่วมมือในการขับเคลื่อนกรอบเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการสร้างเมืองและสาธารณูปโภคที่ปลอดภัย ให้สามารถรับมือและฟื้นตัวกลับจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว 


6357affacfd6e3.89805164.jpg
 
รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างแผนรับมือและบรรเทาสาธารณภัย โดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับมือภัยพิบัติในอาเซียน ภายใต้โครงการ คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท โดยอาเซียนกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการจัดเก็บและกระจายสิ่งของช่วยเหลือให้แก่ประเทศอาเซียนที่ประสบภัยพิบัติ ทำให้กลไกการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภูมิภาคเป็นระบบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการเรียนรู้การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากต่างประเทศแล้วนำมาปรับใช้ในไทย พร้อมทั้งวางแผนป้องกันด้านอุปกรณ์และวิธีการให้พร้อมตลอดเวลา นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแผนการรับมือและบรรเทาสาธารณภัยในระดับประเทศและระดับชุมชน เช่น การจัดเวทีเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของไทยในมิติต่าง ๆ โดยมีทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย

6357affab470c8.95585914.jpg

6357affa9b20a7.90185334.jpg

6357affa77d9c9.62731926.jpg

6357affa4a7736.74298926.jpg